22 ก.ค. 2557

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปจบอยู่ที่ใด ?



ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปจบอยู่ที่ใด

  

  
                 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เก่าจำนวนมากถูกเก็บไว้ให้ฝุ่นเกาะ เพื่อรอการนำมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล หรือ การกำจัดทิ้ง กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม(EPA) ของสหรัฐอเมริกาประมาณว่า 3ใน 4 ของคอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกขายไปแล้วในสหรัฐ จะถูกกองรวมกันอยู่ในโกดังและที่เก็บต่างๆ เมื่อถึงคราวที่ต้องโยนทิ้ง พวกมันจะถูกนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เข้าเตาเผาขยะ และเมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการส่งออกมาที่เอเชียด้วยที่ฝังกลบขยะ

         จากข้อมูลของกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ ในพ.ศ. 2543 มากกว่า 4.6 ล้านตันของขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกฝังกลบในสหรัฐ สารเคมีพิษที่อยู่ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อาจรั่วไหลลงผืนดิน หรือแพร่เข้าสู่บรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง ประเทศต่างๆในยุโรปได้ออกมาตรการห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปฝังกลบเนื่องจากมีองค์ประกอบของวัสดุที่เป็นพิษ แต่ในหลายประเทศก็ยังมีการฝังกลบขยะเช่นนั้นต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ในฮ่องกง ประมาณกันว่าร้อยละ 10-20 ของคอมพิวเตอร์ที่ถูกทิ้ง จะถูกนำไปฝังกลบ


         เตาเผาขยะ: การเผาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโลหะหนักไม่ว่าจะเป็น ตะกั่ว แคดเมียม และ สารปรอท เข้าสู่บรรยากาศ และกลายเป็นเถ้าถ่าน สารปรอทที่แพร่เข้าสู่บรรยากาศจะสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในตัวปลา ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่เผยแพร่สารปรอทไปสู่คนทั่วไป ถ้าสินค้าชนิดนั้นมีส่วนประกอบของพลาสติก PVC ก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารไดอ๊อกซินคลอไรด์และสารฟิวแรน สารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีนก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารโบรไมเนตไดอ๊อกซินและสารฟิวแรน เมื่อมีการเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนั้น

          การนำมาใช้ใหม่: การนำมาใช้ใหม่เป็นวิธีที่ดีเพื่อยืดอายุของสินค้า สินค้าเก่าหลายชิ้นถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าประโยชน์จากการนำสินค้าเก่ามาใช้ใหม่ยังไม่ชัดเจน แต่การนำสินค้ามือสองมาใช้ก็ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นมาแล้ว เพราะหลังจากใช้งานได้เพียงไม่นานสินค้ามือสองเหล่านี้ก็จะถูกทิ้ง และดูเหมือนประเทศที่นำเข้าต่างก็ไม่มีความสามารถในการจัดการกับขยะอันตรายเหล่านี้ได้


          รีไซเคิล: แม้ว่าการรีไซเคิลจะเป็นวิธีที่ดีในการนำวัสดุของสินค้าเก่ามาใช้ใหม่ แต่ในขณะเดียวกันในกระบวนการรีไซเคิลก็อาจทำให้คนงานได้รับอันตรายจากสารเคมีในขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง

          ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การรีไซเคิลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีในโรงงานรีไซเคิลที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเท่านั้น โดยมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ยกตัวอย่างเช่น ในหลายประเทศในสหภาพยุโรป จะไม่มีการรีไซเคิลพลาสติกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยสารโบรไมเนต ฟิวแรน และ สารไดอ๊อกซินเข้าสู่บรรยากาศ แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่มีมาตรการควบคุมเช่นนี้ และการแยกขยะเพื่อรีไซเคิลมักทำกันตามแหล่งทิ้งขยะต่างๆ และหลายครั้งจะมีเด็กมาแยกขยะด้วย


          การส่งออก:  ขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกส่งออกจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นประจำ และหลายครั้งได้ละเมิดอนุสัญญาบาเซิล จากการตรวจสอบท่าเรือ 18 แห่งในยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2548 พบว่า ขยะมากถึงร้อยละ 47 ซึ่งรวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกส่งออกไปอย่างผิดกฎหมายในพ.ศ. 2546 เฉพาะในอังกฤษ ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 23,000 เมตริกตันถูกส่งออกอย่างผิดกฎหมายโดยไม่มีการระบุว่าเป็นสินค้าประเภทใด ไปยังตะวันออกไกลไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อัฟริกา และ จีน ในสหรัฐอเมริกา ประมาณกันว่าร้อยละ 50-80 ของขยะที่ถูกรวบรวมเพื่อการรีไซเคิล ก็จะถูกส่งออกไปในลักษณะเดียวกัน แต่การกระทำเช่นนื้ถือว่าถูกกฎหมายเพราะว่าสหรัฐไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาบาเซิล


          จีนแผ่นดินใหญ่พยายามจะปกป้องการค้าเช่นนี้ด้วยการออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพ.ศ. 2543 อย่างไรก็ตามกรีนพีซพบว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่มีการบังคับใช้จริงจัง โดยยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งมาถึงเมืองกุ้ยหยู มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีน


          กรีนพีซยังพบว่าในอินเดียมีปัญหาการค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เฉพาะในเมืองเดลีมีคนงาน 25,000 คนที่ทำงานตามแหล่งทิ้งขยะ ซึ่งต้องคัดแยกขยะ 10,000-20,000 ตันต่อปี โดยร้อยละ 25 ของขยะเหล่านี้เป็นคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองมีรุต เฟโรซาบัด เชนไน บังกาลอ และ มุมไบ

Filed Under :
background