ขยะล้นโลก
ในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อม
เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้คำนึงถึงความสำคัญ
และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหา
เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนทุกระดับตั้งแต่ สุขาภิบาล เทศบาล เมืองใหญ่
จนถึงระดับประเทศ เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงมาจากความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ
การพัฒนาประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ
เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน
รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจึงทำให้เกิดความต้องการในการใช้ทรัพยากรมากขึ้น
โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยและเสื่อมโทรมลงจนเกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติ
ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดภาวะมลพิษต่างๆ เช่น
มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. 2535 : 18 –19) นอกจากนี้ยังพบว่า
ปัญหาขยะมูลฝอยที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถกำจัดได้หมด
หรือกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นปัญหาสำคัญในเขตชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะ
เขตที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น (สำนักงานสถิติแห่งชาติ.2537 : 229 –232) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้
เช่น ทำให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็น เกิดน้ำเสียจากการทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ
เกิดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ นำโรค เป็นต้น จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม
ในปีพ.ศ.2542 ระบุว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดจากชุมชนทั่วประเทศวันละ 37,250 ตัน หรือ13.6 ล้านตันต่อปี
และปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดจากพื้นที่ในเขตเทศบาลและสุขาภิบาล รวมกันได้ถึงวันละ 1,655 ตัน
ซึ่งความสามารถในการจัดเก็บและขนขยะทำได้เพียงร้อยละ 50 –60
ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศ (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม.
2542 : 154) จากการที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น
และการจัดเก็บไม่สามารถดำเนินการได้ทันกับจำนวนของขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมาก
ทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างตามสถานที่ต่างๆ เป็นปริมาณมาก ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่างๆ
ตามมา
ดังนั้น
ภาครัฐจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและได้วางแผนจัดการสิ่งแวดล้อม
โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ และเอกชน
ในการเก็บขนขยะมูลฝอย การสร้างจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน
โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการกับปัญหาขยะมูลฝอย
เพื่อให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และเกิดจิตสำนึกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปฏิบัติ
รู้จักรับผิดชอบในการรักษาความสะอาดทั้งในบ้านเรือนของตัวเอง และภายนอกบ้าน
หรือที่สาธารณะอื่นๆ รู้จักแยกทิ้งขยะมูลฝอยลงในถังแยกประเภทให้เป็นที่
เป็นระเบียบเรียบร้อย
ทั้งนี้จะเป็นการช่วยให้พนักงานเก็บขนขยะสามารถนำไปยังสถานที่กำจัดได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
รวมถึงเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัด และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทิ้งขยะมูลฝอยของประชาชนที่เหมาะสมอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน ไม่ใช่เรื่องง่าย
หรือเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น การศึกษาจึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมาก
ที่จะช่วยสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และความสามารถในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราและสังคม
ประชาชนมักละเลยและไม่คำนึงถึงความสำคัญของปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น
การศึกษาจึงมุ่งเน้นให้กลุ่มเด็กในวัยเรียนที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรยืนนาน
และมีประโยชน์ต่อชุมชนระยะยาว เพราะเด็กในวัยนี้สามารถรับรู้
และตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมได้และเป็นที่คาดหมายได้ว่า
หากมีการปลูกฝังความรู้ด้านนี้อย่างจริงจัง และถูกวิธี
ก็อาจเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เมื่อเขาเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
นอกจากนี้เด็กเหล่านี้อาจมีอิทธิพลต่อสมาชิกในครอบครัวให้รู้สึกละอาย
และตระหนักสำนึกในบทบาทความรับผิดชอบในทรัพยากรสิ่งแวดล้อม (ณัฏฐา หังสพฤกษ์. 2533 :
593)
โดยเฉพาะนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา
ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเยาวชน หรือวัยรุ่น ที่ได้ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
ในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต
ซึ่งเด็กนักเรียนเหล่านี้มีความสามารถในการเรียนรู้ การคิด
และมีสติปัญญาที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ อีกทั้งยังมีพัฒนาการด้าน
การกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน